Thai Chinese (Traditional) English French Italian Portuguese Russian
พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

 

ขุททกนิกายภาค ๑

เอกนิบาต

๙. อปายิมหวรรค

มิตตวินทชาดก

ว่าด้วยจักรกรดพัดบนศีรษะ

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้าที่ชื่อว่า สมเด็จพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ความมีอยู่ว่า นายมิตตวินทุกะถูกจักรพัดอยู่บนศีรษะตลอดเวลา จึงได้รับความทุกข์ทรมานมาก

ขณะนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าได้เดินผ่านมา นายมิตตวินทุกะ จึงถามว่า “ข้าแด่พระองค์ ข้าพเจ้าได้กระทำอะไรไว้แก่เทวดา ข้าพเจ้าได้กระทำความชั่วอะไร จักรนี้ได้จรดที่ศีรษะแล้วพัดผันอยู่บนกระหม่อมของข้าพเจ้า”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “เพราะเหตุใดเล่า ท่านผ่านทั้งปราสาทแก้วผลึก ปราสาทเงิน ปราสาทแก้วมณี และปราสาททองมาแล้วจึงมาถึง ณ ที่นี่ได้” 

นายมิตตวิทุกะกล่าวว่า “ขอพระองค์ท่านจงดูข้าพเจ้าผู้มีความหายนะ เนื่องเพราะสำคัญว่าที่นี่มีโภคทรัพย์สมบัติมากมายกว่าปราสาททั้ง ๔ หลังที่กล่าวมานี้”

พระโพธิสัตว์ จึงตรัสตอบว่า “เนื่องเพราะท่านมีความปรารถนามากเกินไป ได้ครอบครองนารี ๔ นาง ไม่พอใจทั้ง ๔ นางได้ครอบครองนารีทั้ง ๘ นาง ไม่พอใจทั้ง ๘ นาง ได้ครอบครองนารีทั้ง ๑๖ นาง ไม่พอใจทั้ง ๑๖ นางได้ครอบครองทั้ง ๓๒ นาง ไม่พอใจทั้ง ๓๒ นาง ท่านจึงได้ประสบกับจักรที่พัดอยู่บนศีรษะของท่าน เพราะถูกความโลภ ความปรารถนาที่มากเกินไป” 

พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งสอนว่า “ขึ้นชื่อว่าความอยาก มีสภาพแผ่ไปยิ่งใหญ่ไพศาล ทำให้เต็มได้ยาก (ความอยากไม่มีที่สิ้นสุด) หากชนเหล่าใดตกอยู่ภายใต้อำนาจของความอยากแล้ว ก็ยากที่จะถอนตัวออกได้ง่าย ๆ เหมือนกับท่านในปัจจุบันนี้ ต้องเทินจักรไว้อยู่บนศีรษะตลอดเวลา”

พระโพธิสัตว์ตรัสเช่นนี้แล้ว ก็เสด็จสู่เทวสถานแห่งตนทันที ฝ่ายมิตตวินทุกะ ก็ยังคงมีจักรพัดอยู่บนศีรษะอยู่ตลอดเวลา และได้รับความทุกขเวทนาหนักเรื่อยไป จนกว่าบาปกรรมที่กระทำไว้จะหมดสิ้นไป การที่นายมิตตวินทุกะ ได้รับกรรมเช่นนี้ ก็เนื่องด้วยความโลภ ความปรารถนา และความอยากไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

มิตตวินทกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุว่ายากในครั้งนี้

ส่วนท้าวเทวราช ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ มิตตวินทกชาดก

อรรถกถาชาดกพระเจ้า 547 พระชาติ

เชิญร่วมบุญ