Thai Chinese (Traditional) English French Italian Portuguese Russian
พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

 

ขุททกนิกายภาค ๑

เอกนิบาต

๓. กุรุงควรรค

นันทิวิสาลชาดก

ว่าด้วยการพูดดี

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการพูด เสียดแทงให้เจ็บใจ ของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

ความพิสดารว่า สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เมื่อกระทำการทะเลาะ ย่อมขู่ ย่อมตะเพิด ย่อมทิ่มแทง ย่อมด่าด้วยเรื่องสำหรับด่า ๑๐ ประการ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ เรียกภิกษุฉัพพัคคีย์มาแล้วตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่าพวกเธอ กระทำการทะเลาะจริงหรือ ?” เมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์กราบทูลว่า “จริง พระเจ้าข้า” จึงทรงติเตียนแล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าวาจาหยาบกระทำ แต่ความฉิบหายให้ ไม่เป็นที่พอใจแม้แห่งสัตว์เดียรัจฉาน แม้ในกาลก่อน สัตว์เดียรัจฉานตัวหนึ่ง ย่อมยังคนผู้ร้องเรียกตนด้วยคำหยาบให้พ่ายแพ้ด้วยทรัพย์พันหนึ่ง” แล้วจึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่าคันธาระ ครองราชสมบัติอยู่ในเมืองตักกศิลา แคว้นคันธาระ พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดโค ครั้งในกาลที่พระโพธิสัตว์เป็นลูกโคหนุ่มนั่นเอง พราหมณ์คนหนึ่งได้พระโพธิสัตว์นั้น จากสำนักของทายกผู้ให้ทักษิณา ตั้งชื่อโคพระโพธิสัตว์ว่านันทิวิสาล แล้วตั้งไว้ในฐานะบุตร รักใคร่มาก ให้ข้าวยาคูและภัตเป็นต้นบำรุงเลี้ยงแล้ว พระโพธิสัตว์เจริญวัย แล้วคิดว่า พราหมณ์นี้ปรนนิบัติเราโดยยาก ชื่อว่าโคอื่นเสมอเช่นกับเราย่อมไม่มีในชมพูทวีปทั้งสิ้น ถ้ากระไร เราพึงใช้กำลังของตน เพื่อหาค่าเลี้ยงดูแก่พราหมณ์

วันหนึ่งพระโพธิสัตว์นั้นจึงกล่าวกะพราหมณ์ ว่า “พราหมณ์ท่านจงไป จงเข้าไปหาโควินทกเศรษฐีนั่น แล้วกล่าวว่า โคพลิพัทของเราสามารถทำให้เกวียนร้อยเล่มซึ่งผูกติด ๆ กันให้เคลื่อนไปได้ ท่านจงกระทำการเดิมพันด้วยทรัพย์พันกหาปณะ”

พราหมณ์นั้นจึงไปยังสำนักของเศรษฐี แล้วสนทนาขึ้นว่า ในนครนี้โคของใครเพียบพร้อมด้วยเรี่ยวแรง ลำดับนั้น เศรษฐีจึงกล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ของคนโน้นบ้างและของคนนี้บ้าง แล้วกล่าวว่า ทั่วทั้งนครโคชื่อว่ามีเรี่ยวแรงมากเสมอเช่นกับโคทั้งหลายของเราย่อมไม่มี พราหมณ์กล่าวว่า “โคของเราตัวหนึ่งสามารถลากเกวียนร้อยเล่มผูกติด ๆ กันให้เคลื่อนไปได้”

เศรษฐีกล่าวว่า “คฤหบดี โคเห็นปานนี้จะมีแต่ไหน” พราหมณ์กล่าวว่า “มีอยู่ในเรือนของเรา” เศรษฐีกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงกระทำเดิมพัน” พราหมณ์กล่าวว่า “ดีละ ข้าพเจ้าจะทำ” แล้วได้กระทำเดิมพันด้วยทรัพย์พัน กหาปณะ พราหมณ์นั้นทำเกวียนร้อยเล่มให้เต็มด้วยทราย กรวด และหินเป็นต้น แล้วจอดไว้ตามลำดับกัน แล้วผูกเกวียนทุกเล่มเข้าด้วยกันด้วยเชือกสำหรับผูกเพลา แล้วให้โคนันทิวิสาลอาบนํ้าแล้วเจิมด้วยของหอม ประดับพวงมาลาที่คอ แล้วเทียมที่เกวียนเล่มแรก ตนเองนั่งที่เกวียน เงื้อปฏักขึ้นแล้วกล่าวว่า เจ้าโคโกง จงลากไป เจ้าโคโกง จงนำไป พระโพธิสัตว์คิด ว่า พราหมณ์นี้ร้องเรียกเราผู้ไม่โกง ด้วยวาทะว่าโกง จึงได้ยืนทำเท้าทั้ง ๔ ให้นิ่ง เหมือนเสา ทันใดนั้น เศรษฐีจึงให้พราหมณ์นำทรัพย์พันกหาปณะมา พราหมณ์แพ้พนันด้วยทรัพย์พันกหาปณะ จึงปลดโคแล้วไปเรือน ถูกความ โศกครอบงำ จึงได้นอน

โคนันทิวิสาลเที่ยวไปแล้วกลับมา เห็นพราหมณ์ถูกความโศกครอบงำ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า “พราหมณ์ ท่านนอนหลับหรือ” พราหมณ์กล่าวว่า “เราแพ้พนันด้วยทรัพย์พันกหาปณะ จะมีความหลับมาแต่ไหน” โคนันทิวิสาลกล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ฉันอยู่ในเรือนของท่านมานาน เคยทำภาชนะอะไร ๆ แตก เคยเหยียบใคร ๆ หรือเคยถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ ในที่อันไม่ควร มีอยู่หรือ” พราหมณ์กล่าวว่า “ไม่มีดอกพ่อ”

ลำดับนั้น โคนันทิวิสาลกล่าวว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงเรียก ฉันด้วยวาทะว่าโคโกง นั้นเป็นโทษของท่านเท่านั้น โทษของฉันไม่มี ท่านจงไป จงทำเดิมพันด้วยทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะกับเศรษฐีนั้น ขออย่างเดียวท่านอย่า เรียกฉันผู้ไม่โกง ด้วยวาทะว่าโคโกง”

พราหมณ์ได้ฟังคำของโคนันทิวิสาลนั้น แล้วกระทำเดิมพันด้วยทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะแล้วผูกเกวียนร้อยเล่มติดกัน โดยนัยอันมีแล้วในก่อน ประดับโคนันทิวิสาลแล้วเทียมโคเข้าที่เกวียนเล่มแรก

ลำดับนั้น พราหมณ์นั่งบนทูบเกวียน ลูบหลังโคนันทิวิสาลนั้นพลางกล่าวว่า “โคผู้เจริญ พ่อจงไป โคผู้เจริญ พ่อจงลากไป” พระโพธิสัตว์ลากเกวียนร้อยเล่มที่ผูกติดกัน ด้วยกำลังแรงครั้งเดียวเท่านั้น ให้เกวียนเล่มที่ตั้งอยู่ข้างหลังไปตั้งอยู่ในที่ของเกวียนซึ่งตั้งอยู่ข้างหน้า โควินทกเศรษฐีแพ้แล้วได้ให้ทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะแก่พราหมณ์ ชนอื่น ๆ ก็ได้ให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่พระโพธิสัตว์ ทรัพย์ทั้งหมดนั้นได้เป็นของพราหมณ์ทั้งนั้น พราหมณ์นั้นอาศัยพระโพธิสัตว์จึงได้ทรัพย์เป็นอันมากด้วย ประการอย่างนี้.

พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าคำหยาบไม่เป็นที่ชอบใจของใคร ๆ” แล้วทรงติเตียนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า

พราหมณ์ในกาลนั้น ได้เป็นพระอานนท์

ส่วนโคนันทิวิสาล ได้เป็นเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล.

 

อรรถกถาชาดกพระเจ้า 547 พระชาติ

เชิญร่วมบุญ