Thai Chinese (Traditional) English French Italian Portuguese Russian
พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕
มหาวรรค ภาค ๒

???


ถวายจีวรเป็นของสงฆ์

      [๑๖๔] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่แต่ผู้เดียว คนทั้งหลายในถิ่นนั้น ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์ จึงภิกษุรูปนั้นได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์ แต่เรารูปเดียว และคนเหล่านี้ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์ ดังนี้ ถ้าไฉนเราจะพึงนำจีวรของสงฆ์เหล่านี้ไปพระนครสาวัตถี ครั้นแล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปพระนครสาวัตถี กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอผู้เดียว จนถึงเวลาเดาะกฐิน.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ ภิกษุจำพรรษารูปเดียว ประชาชนในถิ่นนั้นถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียวจนถึงเวลาเดาะกฐิน.
      สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล ประชาชนในถิ่นนั้นได้ถวายจีวรเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ จึงภิกษุรูปนั้นได้ดำริดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์ แต่เราอยู่ผู้เดียว และคนเหล่านี้ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ ถ้าไฉนเราจะพึงนำจีวรของสงฆ์เหล่านี้ไปพระนครสาวัตถี ครั้นแล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปพระนครสาวัตถี แจ้งความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ผู้อยู่พร้อมหน้ากันแจก.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ ภิกษุอยู่ผู้เดียวตลอดฤดูกาล ประชาชนในถิ่นนั้นได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่าพวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุรูปนั้น อธิษฐานจีวรเหล่านั้นว่า จีวรเหล่านี้ของเรา ถ้าเมื่อภิกษุรูปนั้นยังไม่ได้อธิษฐานจีวรนั้น มีภิกษุรูปอื่นมา พึงให้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน ถ้าเมื่อภิกษุ ๒ รูปกำลังแบ่งจีวรนั้น แต่ยังมิได้จับสลาก มีภิกษุรูปอื่นมา พึงให้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน ถ้าเมื่อภิกษุ ๓ รูปกำลังแบ่งจีวรนั้น และจับสลากเสร็จแล้ว มีภิกษุรูปอื่นมา พวกเธอไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องให้ส่วนแบ่ง.
      สมัยต่อมา มีพระเถระ ๒ พี่น้อง คือ ท่านพระอิสิทาส ๑ ท่านพระอิสิภัตตะ ๑ จำพรรษา อยู่ในพระนครสาวัตถี ได้ไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง คนทั้งหลายกล่าวกันว่า นานๆ พระเถระทั้งสองจะได้มา จึงได้ถวายภัตตาหารพร้อมทั้งจีวร
      พวกภิกษุประจำถิ่นถามพระเถระทั้งสองว่า ท่านเจ้าข้า จีวรของสงฆ์เหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะอาศัยพระคุณเจ้าทั้งสอง พระคุณเจ้าทั้งหลายจักยินดีรับส่วนแบ่งไหม?
      พระเถระทั้งสองตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้นจนถึงเวลาเดาะกฐิน.
      สมัยต่อมา ภิกษุ ๓ รูป จำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ ประชาชนในเมืองนั้นถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ จึงภิกษุเหล่านั้นได้ดำริดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์ แต่เรามี ๓ รูปด้วยกัน และคนเหล่านี้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ สมัยนั้น พระเถระหลายรูป คือ ท่านพระนีลวาสี ท่านพระสาณวาสี ท่านพระโคปกะ ท่านพระภคุ และท่านพระผลิกสันทานะ อยู่ ณ วัดกุกกุฏาราม เขตนครปาตลีบุตร จึงภิกษุเหล่านั้นเดินทางไปนครปาตลีบุตร แล้วเรียนถามพระเถระทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านนั้น จนถึงเวลาเดาะกฐิน.


 

เชิญร่วมบุญ