Thai Chinese (Traditional) English French Italian Portuguese Russian
พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓
ภิกขุนีวิภังค์

???


สัตตรสกัณฑ์

      แม่เจ้าทั้งหลาย ก็ธรรมคือสังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบทนี้แล มาสู่อุเทศ.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑
เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา

      [๓๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งถวายโรงเก็บของแก่ภิกษุณีสงฆ์แล้วถึงอนิจกรรม. เขามีบุตรอยู่ ๒ คน คนหนึ่งเป็นคนไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส อีกคนหนึ่งเป็นคนมีศรัทธา เลื่อมใส. บุตรทั้งสองนั้นแบ่งสมบัติของบิดาแล้ว ต่อมาบุตรคนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส จึงได้พูดกับบุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสว่า โรงเก็บของของเรายังมีอยู่ เรามาแบ่งกันเถิด. เมื่อเขาพูดอย่างนั้นแล้ว บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสพูดห้ามว่า เจ้าอย่าได้พูดอย่างนี้ โรงเก็บของนั้น บิดาของเราได้ถวายภิกษุณีสงฆ์แล้ว.
      แม้ครั้งที่สอง บุตรคนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ก็พูดว่า โรงเก็บของของเรา เราจะแบ่งกัน. ครั้งนั้นแล บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสก็พูดห้ามว่า เจ้าอย่าได้พูดอย่างนี้ โรงเก็บของนั้น บิดาของเราได้ถวายแก่ภิกษุณีสงฆ์แล้ว.
      แม้ครั้งที่สาม บุตรคนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ก็พูดว่า โรงเก็บของของเรา เราจะแบ่งกัน. ครั้งนั้นแล บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสจึงคิดว่า ถ้าโรงเก็บของนั้นจักเป็นของเรา เราก็จักถวายแก่ภิกษุณีสงฆ์ แล้วกล่าวว่า เราจงแบ่งกันเถิด. บังเอิญโรงเก็บของที่เขาทั้งสองแบ่งกันนั้น ได้ตกแก่บุตรคนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส.
      ครั้งนั้นแล จึงบุตรคนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ได้เข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย แล้วบอกว่าเชิญแม่เจ้าทั้งหลายออกไปเถิด เจ้าข้า เพราะโรงเก็บของเป็นของข้าพเจ้า.
      เมื่อเขาบอกอย่างนั้นแล้ว ภิกษุณีถุลลนันทาได้พูดว่า นายอย่าพูดอย่างนี้ บิดาของพวกนายได้ถวายแก่ภิกษุณีสงฆ์แล้ว.
      ต่างเถียงกันอยู่ว่า ถวายแล้ว ไม่ได้ถวาย แล้วฟ้องมหาอำมาตย์ผู้พิพาษา. มหาอำมาตย์ถามว่า แม่เจ้า ใครเล่าจะทราบว่าได้ถวายแล้วแก่ภิกษุณีสงฆ์?
      เมื่อเขาถามอย่างนั้นแล้ว ภิกษุณีถุลลนันทาย้อนถามพวกมหาอำมาตย์เหล่านั้นว่า พวกท่านได้เห็นหรือได้ยินบ้างไหมว่า ทานที่เขาถวายกันต้องตั้งพยานด้วย?
      จึงมหาอำมาตย์เหล่านั้นพูดว่า แม่เจ้าพูดจริงแท้ แล้วได้ตัดสินโรงเก็บของนั้นให้แก่ภิกษุณีสงฆ์.
      ครั้นบุรุษนั้นแพ้คดีแล้ว จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ภิกษุณีโล้นเหล่านี้ไม่เป็นสมณะ เป็นหญิงฉ้อโกง ไฉนจึงได้ให้ผู้พิพากษาริบโรงเก็บของของเราเสียเล่า.
      ภิกษุณีถุลลนันทาได้แจ้งความเรื่องนั้นแก่มหาอำมาตย์. มหาอำมาตย์ได้ให้ปรับไหมบุรุษนั้น.
      ครั้นบุรุษนั้นถูกปรับไหมแล้ว ได้ให้สร้างที่พักอาชีวกไว้ใกล้ๆ สำนักภิกษุณี แล้วส่งพวกอาชีวกไปอยู่ด้วยสั่งว่า จงช่วยกันกล่าวล่วงเกินภิกษุณีพวกนั้น.
      ภิกษุณีถุลลนันทาได้แจ้งความนั้นแก่มหาอำมาตย์. มหาอำมาตย์ได้ให้จองจำเขาแล้ว. พวกชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ครั้งแรกพวกภิกษุณีได้ให้เจ้าหน้าที่ริบโรงเก็บของครั้งที่สองให้ปรับไหม ครั้งที่สามให้จองจำ คราวนี้เห็นทีจะให้ประหารชีวิต. พวกภิกษุณีได้ยินชาวบ้านพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงได้ชอบเป็นคนกล่าวหาเรื่องเล่า แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ทรงสอบถาม

      พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีถุลลนันทาชอบกล่าวหาเรื่อง จริงหรือ?
      ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

      พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา จึงได้ชอบกล่าวหาเรื่องเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลาย จงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ

      ๙.๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด ชอบกล่าวหาเรื่องกับคหบดีก็ดี บุตรคหบดีก็ดี ทาสก็ดี กรรมกรก็ดี โดยที่สุด แม้สมณะปริพาชก ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ.

เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา จบ.
สิกขาบทวิภังค์

      [๓๒] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
      บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
      ที่ชื่อว่า กล่าวหาเรื่อง ได้แก่ ที่เขาเรียกว่าผู้ก่อคดี.
      ที่ชื่อว่า คหบดี ได้แก่ บุรุษผู้ครอบครองเรือนคนใดคนหนึ่ง.
      ที่ชื่อว่า บุตรคหบดี ได้แก่ บุตรหรือพี่น้องชายคนใดคนหนึ่ง.
      ที่ชื่อว่า ทาส ได้แก่ ทาสที่เกิดในเรือนเบี้ย ทาสสินไถ่ ทาสเชลย.
      ที่ชื่อว่า กรรมกร ได้แก่ คนรับจ้าง คนที่ถูกเกณฑ์มา.
      ที่ชื่อว่า สมณะปริพาชก ได้แก่บุรุษคนใดคนหนึ่งผู้เข้าบวชเป็นปริพาชก เว้นภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร และสามเณรี.
      ภิกษุณีแสวงหาเพื่อนก็ดี เดินไปก็ดี ด้วยตั้งใจว่า จักก่อคดี ต้องอาบัติทุกกฏ บอกแจ้งเรื่องของคนหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ แจ้งเรื่องของคนที่สอง ต้องอาบัติถุลลัจจัย คดีถึงที่สุด ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
      [๓๓] บทว่า มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ ความว่า ต้องอาบัติพร้อมกับล่วงวัตถุ โดยไม่ต้องสวดสมนุภาส.
      ที่ชื่อว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ขับออกจากหมู่.
      บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้น ให้มานัตเพื่ออาบัตินั้น ชักเข้าหาอาบัติเดิม เรียกเข้าหมู่ ไม่ใช่คณะมากรูปด้วยกัน ไม่ใช่ภิกษุณีรูปเดียว เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่าสังฆาทิเสส คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือเป็นชื่อของอาบัตินิกายนั้นแล แม้เพราะเหตุนั้น
จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.

อนาปัตติวาร

      [๓๔] ภิกษุณีถูกมนุษย์เกาะตัวไป ๑ ขออารักขา ๑ บอกไม่เจาะตัว ๑ วิกลจริต ๑ ภิกษุณีอาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑ จบ.

-----------------------------------------------


 

เชิญร่วมบุญ