Thai Chinese (Traditional) English French Italian Portuguese Russian
พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ วัดโพรงจระเข้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สืบทอดพระพุทธศาสนา
นำทางสู่การพ้นทุกข์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑
มหาวิภังค์ ภาค ๑

???


สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒
เรื่องพระฉันนะ

      [๖๐๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารโฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระฉันนะ ประพฤติมารยาทอันไม่สมควร ภิกษุทั้งหลายกล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า ดูกรฉันนะ ท่านอย่าได้กระทำอย่างนี้ ประพฤติดังนี้ไม่ควร
      พระฉันนะกล่าวตอบว่า ดูกรท่านทั้งหลาย พวกท่านสำคัญว่าเราเป็นผู้ที่ท่านควรว่ากล่าวกระนั้นหรือ เราต่างหากควรว่ากล่าวพวกท่าน เพราะพระพุทธเจ้าก็ของเรา พระธรรมก็ของเรา พระลูกเจ้าของเราตรัสรู้ธรรมแล้ว พวกท่านต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ต่างสกุลกัน บวชรวมกันอยู่ ดุจลมกล้าพัดหญ้าไม้ และใบไม้แห้งให้อยู่ร่วมกัน หรือดุจแม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขา พัดจอกสาหร่ายและแหนให้อยู่รวมกันฉะนั้น ดูกรท่านทั้งหลาย พวกท่านสำคัญว่าเราเป็นผู้ที่ท่านควรว่ากล่าวกระนั้นหรือ เราต่างหากควรว่ากล่าวพวกท่าน เพราะพระพุทธเจ้าก็ของเรา พระธรรมก็ของเรา พระลูกเจ้าของเราตรัสรู้ธรรมแล้ว
      บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระฉันนะ อันภิกษุทั้งหลาย ว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม จึงได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท

      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระฉันนะว่า ดูกรฉันนะ ข่าวว่า เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้จริงหรือ?
      พระฉันนะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
      พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรโมฆบุรุษ ไฉน เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม จึงได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
      ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระฉันนะโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ

      ๑๖. ๑๒. อนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายาก อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุเทศ ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ด้วยกล่าวโต้ว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวอะไรต่อเรา เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม แม้เราก็จักไม่กล่าวอะไรๆ ต่อพวกท่านเหมือนกัน เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวเราเสีย ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตนให้เขาว่ากล่าวได้แล แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคนั้น เจริญแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือด้วยว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ แลภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส.

เรื่องพระฉันนะ จบ.
สิกขาบทวิภังค์

      [๖๐๘] คำว่า อนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายาก ความว่า เป็นผู้ว่าได้โดยยากประกอบด้วยธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุสาสนีโดยเบื้องขวา
      คำว่า ในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุเทศ ได้แก่สิกขาบทอันนับเนื่องในพระปาติโมกข์
      บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ภิกษุเหล่าอื่น
      ที่ชื่อว่า ถูกทางธรรม คือสิกขาบทใดอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว สิกขาบทนั้นชื่อว่าถูกทางธรรม ภิกษุนั้นผู้อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ โดยถูกทางธรรมนั้น ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ด้วยกล่าวโต้ว่าพวกท่านอย่าได้กล่าวอะไรๆ ต่อเรา เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม แม้เราก็จักไม่กล่าวคำอะไรๆ ต่อพวกท่าน เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวเราเสีย
      [๖๐๙] บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ภิกษุผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายากนั้น
      บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่าภิกษุเหล่าใดเห็นอยู่ ได้ยินอยู่ภิกษุเหล่านั้นควรว่ากล่าวภิกษุผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายากนั้นว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตนให้เขาว่าได้แล แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคนั้นเจริญแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้คือ ด้วยว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ ควรว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง ควรว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย พึงคุมตัวมาแม้สู่ท่ามกลางสงฆ์แล้วพึงว่ากล่าวว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตนให้เขาว่ากล่าวได้แล แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคนั้นเจริญแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือ ด้วยว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ ควรว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง ควรว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ.

วิธีสวดสมนุภาสน์

      [๖๑๐] ภิกษุนั้น อันสงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์อย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่าดังนี้:-

กรรมวาจาสวดสมนุภาสน์

      ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ภิกษุนั้นไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ.
      ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ภิกษุนั้นไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย การสวดสมนุภาสน์ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
      ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ภิกษุนั้นไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้น การสวดสมนุภาสน์ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
      ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ภิกษุนั้นไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้น การสวดสมนุภาสน์ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
      ภิกษุมีชื่อนี้อันสงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
      [๖๑๑] จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ
      จบกรรมวาจาสองครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
      จบกรรมวาจาครั้งสุด ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
      เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฏเพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัยเพราะกรรมวาจาสองครั้ง ย่อมระงับ
      บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้น ชักเข้าหาอาบัติเดิม ให้มานัต เรียกเข้าหมู่ ไม่ใช่คณะมากรูปด้วยกันมากมาย ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะฉะนั้นจึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือเป็นชื่อของอาบัตินิกายนั้นแล แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.

บทภาชนีย์

      [๖๑๒] กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละเสีย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
      กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละเสีย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
      กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละเสีย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
      กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ
      กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ
      กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ.

อนาปัตติวาร

      [๖๑๓] ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์ ๑ ภิกษุผู้สละเสียได้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒ จบ.


 

เชิญร่วมบุญ